Call4Service
แบบฟอร์มติดต่อ
1483 สายด่วนบริการ เบอร์โทรฟรี
ค้นหาที่ตั้งสาขา
ออกแบบคลังสินค้า

รู้จัก เทคนิคการออกแบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ!

คลังสินค้าคืออะไร? คลังสินค้าเป็นพื้นที่จัดเก็บสินค้าให้ปลอดภัย ตั้งแต่รับ คัดแยก จัดเก็บ และกระจายสินค้า คลังสินค้าไม่ใช่เพียงสถานที่เก็บของเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การออกแบบคลังสินค้าที่ดีจึงช่วยลดต้นทุน เพิ่มความเร็วในการจัดการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

10 ขั้นตอน การออกแบบคลังสินค้า

การออกแบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเราได้รวบรวมมาให้ 10 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

เทคนิคการออกแบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ

รวบรวมข้อมูลมวลและขนาดของผลิตภัณฑ์

ขั้นแรกของการออกแบบคลังสินค้าคือ การเก็บข้อมูลน้ำหนักและขนาดของสินค้าที่ต้องการจัดเก็บ ว่ามีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ น้ำหนักมากหรือน้อย ข้อมูลนี้จะช่วยให้สามารถเลือกสเปคของชั้นวางสินค้าที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากเป็นของชิ้นใหญ่และมีน้ำหนักมาก ต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง การกระจายน้ำหนัก และความแข็งแรงของชั้นวางสินค้าที่จะรับน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย

สำรวจอุปกรณ์สำหรับลำเลียงและขนส่งสินค้า

การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายสินค้าในคลังสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะรถโฟล์คลิฟท์ (Forklift) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนย้ายหลักในคลังสินค้าสมัยใหม่ ต้องทราบขนาด ความสูง และความสามารถในการยกสินค้าของรถโฟล์คลิฟท์ เพื่อกำหนดระยะทางเดินที่เหมาะสมในการหยิบและขนย้ายสินค้า รวมถึงการกำหนดความสูงของชั้นวางให้สอดคล้องกับความสามารถของรถโฟล์คลิฟท์

ประเมินพื้นที่ใช้สอยภายในคลังสินค้า

เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและอุปกรณ์ขนย้ายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวัดและคำนวณพื้นที่ภายในคลังสินค้า ทั้งความกว้าง ความยาว และความสูง เพื่อวางแผนผังได้อย่างเหมาะสม ทั้งจำนวนแถวของชั้นวางสินค้า พื้นที่ทางเดิน จุดวางสินค้า และจุดรับส่งสินค้า การใช้พื้นที่ทั้งแนวราบและแนวดิ่งอย่างเต็มประสิทธิภาพจะช่วยให้จัดเก็บสินค้าได้มากขึ้น

วางแนวทางผังโครงสร้างพื้นที่จัดเก็บ

เมื่อทราบพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมดแล้ว ให้เริ่มกำหนดแผนผังคลังสินค้าอย่างคร่าว ๆ โดยวางตำแหน่งชั้นวางสินค้า ทางเดินสำหรับหยิบและขนย้ายสินค้า พื้นที่รับสินค้า พื้นที่จัดเก็บ พื้นที่จัดส่ง พร้อมประตูเข้าออก เพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้งานคลังสินค้า และสามารถปรับแก้ได้หากมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม

ออกแบบเส้นทางเดินให้เป็นแนวตรง

การออกแบบคลังสินค้าที่ดีควรมีทางเดินเป็นเส้นตรง เพื่อให้การสัญจรและเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สับสน และไม่ควรมีจุดเลี้ยวมากเกินไป เพราะเป็นมุมอับที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากเป็นไปได้ ควรแยกทางเดินของคนและรถโฟล์คลิฟท์ แต่ถ้าทำไม่ได้ ควรออกแบบทางเดินให้กว้างพอและติดตั้งอุปกรณ์ชะลอความเร็วหรือสัญญาณเตือนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

10 ขั้นตอน การออกแบบคลังสินค้า

จัดสรรพื้นที่ภายในคลังสินค้าอย่างเหมาะสม

การจัดสรรพื้นที่ในคลังสินค้าต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน โดยเฉพาะทางเดินสำหรับหยิบและขนย้ายสินค้า ซึ่งต้องกว้างพอให้คนเดินเข้าไปหยิบสินค้าและตรวจสอบได้ รวมถึงให้รถเข็น รถยก หรือรถโฟล์คลิฟท์สามารถขับเข้าออกได้สะดวก นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรพื้นที่สำหรับการตรวจรับสินค้า การบรรจุหีบห่อ และพื้นที่พักสินค้ารอส่งอย่างเหมาะสม

จัดวางสินค้าตามอัตราการหมุนเวียน

การจัดเรียงสินค้าในคลังสินค้าควรคำนึงถึงอัตราการหมุนเวียน โดยใช้เทคนิค ABC Analysis คือ แบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A คือสินค้าที่ขายดีมาก มีการหมุนเวียนสูง กลุ่ม B คือสินค้าที่ขายได้ปานกลาง และกลุ่ม C คือสินค้าที่ขายได้น้อย มีการหมุนเวียนต่ำ โดยสินค้ากลุ่ม A ควรวางไว้ใกล้ทางออกมากที่สุด เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการหยิบและขนย้าย ตามด้วยกลุ่ม B และ C ตามลำดับ

ติดตั้งระบบแสงสว่างที่เพียงพอ

การติดตั้งระบบไฟฟ้าให้มีแสงสว่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญในคลังสินค้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถมองเห็นสินค้าได้ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ตามประกาศจากกรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน แสงสว่างเฉลี่ยภายในพื้นที่คลังสินค้าต้องไม่น้อยกว่า 200 Lux และบริเวณที่มีแสงสว่างน้อยที่สุดต้องไม่น้อยกว่า 100 Lux 

ติดตั้งป้ายเตือนและสัญลักษณ์เพื่อความปลอดภัย

การทำงานในคลังสินค้ามักมีความเร่งรีบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ระมัดระวังหรือการฝ่าฝืนกฎระเบียบเพื่อให้ทำงานเร็วขึ้น เช่น การขับรถสวนทาง หรือการไม่สวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน จึงควรติดตั้งป้ายจราจรและสัญลักษณ์เตือนภายในคลังสินค้า เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนเพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

ติดตั้งระบบรับมือเหตุฉุกเฉิน

เหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าลัดวงจรหรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ การออกแบบคลังสินค้าจึงควรรวมถึงการติดตั้งระบบฉุกเฉิน เช่น ทางหนีไฟ สัญญาณเตือนภัย และระบบตรวจจับควัน ซึ่งไม่เพียงช่วยป้องกันความเสียหายต่อทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล แต่ยังช่วยป้องกันการสูญเสียชีวิตของพนักงานที่ทำงานในคลังสินค้าอีกด้วย

ออกแบบคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

การออกแบบคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับการรับสินค้าเข้า การส่งสินค้าออก และการหยิบแพ็คสินค้าได้อย่างง่ายดาย ยุงค์ไฮน์ริช มีบริการครอบคลุมด้านการวางระบบอินทราโลจิสติกส์ มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถออกแบบและวางแผนระบบคลังสินค้าให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจคุณ ไม่ว่าจะเป็นแร็ควางสินค้า Selective Rack หรือระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage/Retrieval System) ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าของคุณให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ติดต่อเราหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

Stage เงินปันผล

ติดต่อ สอบถาม

เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

โทรศัพท์

1483

ทำการติดต่อ

ยังมีข้อสงสัยใช่หรือไม่